top of page
Writer's picturerowanleaholidayhom

ส้มตำหัวสวีด ซู้ดซี้ดแซ่บหลายเด้อ

Updated: Feb 17, 2022

ด้วยความที่เป็นลูกครึ่งไทยอีสาน ตั้งแต่เด็กๆ ก็ชอบกินอาหารแซ่บๆ ส้มตำคือที่หนึ่งในใจเสมอ เมื่ออยู่ต่างแดน จะมาให้กินเลี่ยนๆ ทุกวันอย่างไรไหว สามสิ่งมหัศจรรย์ที่ต้องมีติดครัวไทยในต่างแดนได้แก่ ครกกับสากเอาไว้ทำตำหมากหุ่งหรือตำบักหุ่ง และหม้อหุงข้าวไว้หุงข้าวเหนียว

ลูกอีสานจะเข้าใจดีว่า กินอะไรก็ไม่อิ่มเท่ากินข้าวเหนียว และถ้ามีข้าวเหนียวก็ต้องมีตำส้ม

พอย้ายถิ่นมาเป็นแม่บ้านสกอต ก็ออกไปเสาะหาลูกมะละกอเพื่อมาทำส้มตำ แถวบ้านก็ไม่ได้มีย่านเอเชียหรือมีไชน่าทาวน์เสียด้วยสิ เคยกว้านซื้อมะละกอที่อิมพอร์ตจากบราซิลและอัฟริกาใต้ที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็ผิดหวังอย่างแรง อุตสาห์เลือกลูกเขียวๆ จับแล้วเนื้อแข็ง พอผ่าออกมาก็เป็นมะละกอ (แอบ) สุก เคยลองเอาเมล็ดมาปลูก หวังจะได้ต้นมะละกอ ประคบประหงมก็แล้ว สุดท้ายก็แห้งตาย...เฮ้อ...


เรื่องกินคือเรื่องใหญ่ ยังไม่ละความพยายามและความอยากส้มตำ ลองสั่งมะละกอสัญชาติไทยทางออนไลน์มาทำตำไทยและตำลาว โอ้แม่เจ้า...มะละกอลูกละเกือบสิบปอนด์ (หนึ่งปอนด์เท่ากับสี่สิบห้าบาท) ราคาแพงจนขนหัวลุกแบบนี้ สู้ไม่ไหวจ้า ขอกินทิพย์ไปก่อนก็แล้วกัน


หน้าตาหัว"สวีด"พี่น้องมะละกอที่พลัดพรากจากกันมาอยู่ทวีปยุโรป (ภาพด้านหลังคือที่ขูดเนย)

เกือบสิบปีที่ผ่านมา ก็ได้อาศัยหัวแครอททำส้มตำมาตลอด นับแต่โควิดมาเยือนโลกมนุษย์ ก็เริ่มโหยหาส้มตำมะละกอมากขึ้นๆ จนได้ข้อมูลมาว่ามะละกอมีญาติทางอังกฤษด้วยชื่อว่า "สวีด" (Swede) มีลักษณะเป็นลูกกึ่งกลม ลักษณะคล้ายหัวเผือก เปลือกสีม่วง ข้างในจะออกสีเหลืองอ่อนค่อนไปทางขาว

ถูกใจสายเฮลท์ตี้เพราะมีแคลอรี่ต่ำและอุดมไปด้วยวิตามินซี เก็บไว้ได้นานเป็นสัปดาห์โดยไม่เหี่ยว แถมราคายังเป็นมิตร โดนใจแม่บ้านสกอตยิ่งนัก ลูกละประมาณ 50 เพนนี่ (เท่ากับ 22.50 บาท) วิธีเลือกควรเลือกที่ขนาดเหมาะมือในการทำส้มตำ

เส้นสวีดที่กรุบกรอบอมหวานนิดๆ ไม่มีความฉุนใดๆ แม่บ้านสกอตชอบกินส้มตำกับขนมจีน


ส้มตำที่กรอบอร่อยมีเคล็ดลับคือไม่ควรขูดเส้น ควรใช้สับจะดีที่สุด ขูดแล้วอาจช้ำ ทำให้ไม่กรอบเต็มคำ แต่เอาจริงๆ แม่บ้านสกอตกลัวมือขาดมากกว่าเสียดายรสชาติ ขอเลือกวิธีขูด โดยประยุกต์ใช้ที่ขูดเนยในครัวต่างแดน ปกติที่ขูดเนยจะขูดได้สี่ด้าน ควรเลือกด้านที่ขูดเส้นได้ความยาวหนึ่งนิ้ว ถ้าอยากเพิ่มความกรอบของเส้น ก็นำไปแช่น้ำเย็นจัดๆ ก่อน


ส่วนวิธีเก็บหัวสวีดก็เก็บไว้ในตู้เย็นได้ ปกติแม่บ้านสกอตอยากกินส้มตำเมื่อไรก็ค่อยทำ เคยลองขูดเส้นทั้งลูกแล้วเก็บไว้ในตู้เย็น ก็จะมีกลิ่นฉุดนิดหน่อย วิธีแก้ก็คือให้นำไปแช่ในน้ำเกลือ 5-10 นาทีก่อนมาทำส้มตำ


แม่บ้านสกอตยังได้ไปศึกษาข้อมูลถึงประวัติของหัวสวีด ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศด้วย ชาวอังกฤษและสกอตเรียกว่า Swede ชาวฝรั่งเศสและอเมริกันจะเรียก Rutabaga แล้วยังมีชื่ออื่นๆ เช่น หัวโคราบี (kohlrabi) ส่วนเนเธอร์แลนด์เรียกว่าหัว koolrap ในขณะที่เยอรมันรู้จักกันในนาม khol rube หรือ steck rube มักชั่งน้ำหนักขายเป็นกิโลกรัมๆ ละหนึ่งยูโร (ประมาณสี่สิบบาท)


หัวสวีดเป็นพืชตระกูลเดียวกับกะหล่ำปลี (cabbage) และหัวผักกาด (turnip) เป็นผักลูกผสมหรือที่เรียกว่าไฮบริดระหว่างสองชนิดที่กล่าวมา โดยมีการพัฒนาพันธุ์ในประเทศสวีเดนในศตวรรษที่ 17 เป็นที่รู้จักในชื่อว่าหัวผักกาดสวีดิช ( Swedish turnips) หรือ rutabaga ภาษาสวีเดนแปลว่ากระเป๋าสีแดง อ้างอิงถึงมงกุฎสีม่วงและทองสัมฤทธิ์


ว่ากันว่าหัวสวีดเริ่มแพร่หลายในเกาะอังกฤษราวศตวรรษที่ 18 กษัตริย์กูสตาฟที่สามแห่งราชวงศ์สวีเดนได้นำเมล็ดของหัวสวีดใส่กล่องยานัตถุ์ทำจากทองประดับประดาอย่างวิจิตรบรรจงส่งมาเป็นของกำนัลแก่นักธนาคารและนักประดิษฐ์ชาวสกอตนามว่าแพทริค มิลเลอร์ แห่งดัมฟรายส์และกัลโลเวย์ ปัจจุบันกล่องดังกล่าวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ลอนดอน



นำภาพมาจากเว็บไซด์พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (Victoria and Albert Museum)


ด้านบนกล่องมีมูนสโตนล้อมรอบพระพักตร์กษัตริย์กุสตาฟที่สามแห่งสวีเดนที่วาดด้วยสีน้ำ ส่วนด้านหน้าเป็นภาพท่าเรือของกองทัพเรือในเมืองคาร์ลสโครนา (Karlskrona) ระหว่างการทำสงคราม


กลับมาเล่าต่อถึงคุณแพทริค บุคคลแรกในสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่ได้ครอบครองเมล็ดสวีด เขาก็ได้นำเมล็ดสวีดมาปลูกและคาดว่าได้แนะนำหัวสวีดให้เพื่อนชาวสกอตที่เป็นนักกวีระดับโลก-โรเบิร์ต เบิร์น (Ronert Burns) ผู้แต่งเพลงโอลด์ แลง ไซน์ (Auld Lang Syne) ที่ใส่เนื้อร้องภาษาไทยเป็นเพลงสามัคคีชุมนุมนั่นเอง


จากจุดนี้เองเกิดการคาดเดากันว่าหัวสวีดคงถูกปากโรเบิร์ต เบิร์น จนกลายเป็นที่มาของตำนานอาหารสกอตที่นิยมกินหัวสวีดหรือผักตระกูลผักกาดที่ชาวสกอตเรียกสั้นๆ ว่า "นีปส์" (neeps) โดยกินคู่กับอาหารประจำชาติสกอต - แฮกกิส (haggis) ซึ่งทำมาจากเครื่องในแกะ ได้แก่ ตับ ปอดและหัวใจ ผสมเครื่องเทศ มันฝรั่ง เกลือ ก่อนที่จะนำมาห่อด้วยกระเพาะแกะและอบจนสุก

บอกเลยว่าประวัติหัวสวีดไม่ธรรมดาจริงๆ ถึงขนาดเปิดตัวอยู่ในแวดวงไฮไซไซตี้ของสหราชอาณาจักรเชียวล่ะ แม่บ้านสกอตจึงปลื้มใจนักหนาที่ได้ลิ้มลอง นับเป็นบุญปากของบ่าวจริงๆ เจ้าค่ะ

ส้มตำไทยหัวสวีด เมนูที่เด็กทำได้ง่ายจัง

สุดท้ายนี้ ขอฟันธงตรงนี้เลยว่า "ส้มตำสวีด" หรือจะทำ "ตำสวีดปลาร้า" อร่อยพอๆ กับส้มตำมะละกอจริงๆ วันไหนคิดถึงเมืองไทย (ความจริงก็คิดถึงทุกวัน) ก็มาตำส้มตำป็อกๆๆ เรียกความสนใจแกมรำคาญจากลูกบ้านสกอตได้ดีเชียวล่ะ





Copyright (©) 2022 Rowanlea Holiday Homes (www.rowanleaholidayhomes.com) All right reserved.

Recent Posts

See All

1 Comment


Sitsatree K
Sitsatree K
Feb 16, 2022


Like
bottom of page